
“ประตู หน้าต่าง อลูมิเนียม” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารและที่อยู่อาศัย เพราะประตูหน้าต่างที่ดีจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายมากขึ้น ช่วยลดความร้อน ป้องกันฝุ่นละออง ประหยัดพลังงาน ป้องกันการรั่วซึมของน้ำ และเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย การเลือกชนิดของบาน ยี่ห้ออลูมิเนียม รวมถึงรูปแบบการใช้งาน จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย สภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ทิศทางของแดด ลม ฝน ให้เหมาะสม
เราได้รวบรวม Check List ข้อควรรู้ที่เจ้าของบ้านควรศึกษา ก่อนจะตัดสินใจเลือกติดตั้งประตู หน้าต่างอลูมิเนียม เพื่อให้เจ้าของบ้านได้ประตู หน้าต่างที่ตอบโจทย์การใช้งานและเกิดประโยชน์มากที่สุดตามนี้
เช็คลิสต์ข้อควรรู้ก่อนติดตั้งประตู หน้าต่าง อลูมิเนียม
- ยี่ห้อและชนิดของเส้นอลูมิเนียมที่ใช้ประกอบเป็นบานประตูหน้าต่าง
- ตำแหน่งที่ติดตั้ง เป็นภายในหรือ ภายนอกอาคาร มีความจำเป็นต้องรองรับน้ำ ลม ฝุ่น เสียง แรงกระแทก มากน้อยเพียงใด
- ประเภทและลักษณะของประตูหน้าต่างแบบต่างๆ อาทิ บานเลื่อน บานกระทุ้ง บานตาย ฯลฯ
- ผู้ใช้งาน มีความต้องการหรือข้อจำกัดอย่างไร เช่น เป็นจุดที่เปิด-ปิดบ่อย, มีการใช้รถเข็น, มีเด็กเล็ก, ห้องความดันลบ, ระบบล็อกอัตโนมัติ ฯลฯ
- การทดสอบของประตูหน้าต่าง เช่น มอก.ระดับ 1-5 หรือ มาตรฐานอื่นๆ อาทิ การกันน้ำ กันลม กันฝุ่น
- สี ความหนา และ เกรด ของเนื้ออลูมิเนียม
- ชนิดกระจกที่เหมาะสมกับการใช้งาน
- อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบ ประตู-หน้าต่าง อาทิ ลูกล้อ มือจับ ตัวล็อก ซิลิโคน ยางกันน้ำ การฉีดโฟม ฯลฯ
- ความชำนาญการของผู้ติดตั้งอลูมิเนียม
- ข้อจำกัดของพื้นที่ติดตั้ง เช่น สามารถขนส่งบานขนาดใหญ่เข้าไปได้หรือไม่ งานซ่อมแซม(รีโนเวท) ต้องมีการรื้อถอน หรือ เกี่ยวข้องกับวัสดุอื่นๆหน้างานหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ อาทิ เครนยก หรือ กระเช้า เพื่อทำการติดตั้งหรือไม่ ตลอดจนลำกับการเข้างานของคิวช่างแต่ละประเภท ช่างปูน ช่างไม้ ช่างฝ้า ช่างอลูมิเนียม ช่างสี ช่างผ้าม่าน ฯลฯ
1. ยี่ห้อและชนิดของเส้นอลูมิเนียมที่ใช้ประกอบเป็นบานประตูหน้าต่าง
การเลือกใช้ประตู-หน้าต่างอลูมิเนียม ข้อควรคำนึงอันดับแรกคือยี่ห้อเส้นอลูมิเนียมที่ได้มาตรฐาน อลูมิเนียมเป็นวัสดุที่ต้องใช้ความชำนาญการเฉพาะ ไม่เหมือนไม้หรือเหล็ก ที่สามารถตัดต่อ หรือเชื่อมหน้างานได้ บานประตูหน้าต่าง 1 บาน ประกอบด้วยเส้นอลูมิเนียมที่มีหน้าตัดหลากหลาย ประกอบเข้าด้วยกันผ่านระบบการเข้าล็อคลิ้น หรือ ยิงสกรูว์ อาทิ หน้าตัดเฟรมบม หน้าตัดเฟรมล่าง หน้าตัดเฟรมข้าง
ตัวอย่างหน้าตัดเฟรมบน
ตัวอย่างหน้าตัดเฟรมข้าง
ตัวอย่างหน้าตัดเฟรมล่าง
เส้นอลูมิเนียมที่มีคุณภาพ จะถูกผลิตให้มีขนาดที่ถูกต้องด้วยความแม่นยำสูง จึงทำให้บานประตู-หน้าต่างมีความแข็งแรง ประกอบเข้ากันอย่างพอดี ไม่มีช่องให้น้ำรั่วซึม นอกจากนี้อลูมิเนียมทั่วไปมักมีสารก่อมะเร็งตกค้างจากกระบวนการทำสี เช่น สารโครเมียม, ตะกั่ว, ปรอท, หรือโลหะหนักต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การเลือกยี่ห้อเส้นอลูมิเนียมจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย
ภาพประตูหน้าต่างแบบ Side View แสดงให้เห็นตำแหน่ง “เฟรมบน” และ “เฟรมล่าง”
ภาพประตูหน้าต่างแบบ Top View แสดงให้เห็นตำแหน่ง “เฟรมข้าง”
“ไทยเม็ททอล” ผู้ผลิตอลูมิเนียมเส้นสำหรับประกอบวงกบประตู-หน้าต่าง ควบคุมการผลิตหน้าตัดให้มีมาตรฐานตามหลักมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานประเทศญี่ปุ่น JIS, มาตรฐานสหรัฐอเมริกา ASTM, มาตรฐานประเทศเยอรมนี DIN รวมถึงประเทศไทย มอก. (หรือ TISI) เพื่อให้เส้นอลูมิเนียมมีความแข็งแรง แม่นยำ ต่อการประกอบประตูหน้าต่าง และ ปลอดสารก่อมะเร็งในทุกกระบวนการผลิต เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ครอบครัว ช่างอลูมิเนียม ผู้อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อม
2. ตำแหน่งที่ติดตั้งเป็นภายใน หรือภายนอกอาคาร ต้องรองรับน้ำ ลม ฝุ่น เสียง แรงกระแทก มากน้อยเพียงใด
ตำแหน่งที่ติดตั้ง ประตู-หน้าต่าง เป็นอีกหนึ่งข้อกำหนดการเลือกที่สำคัญ โดยแบ่งตามมิติของประสิทธิภาพที่จับต้องได้ง่ายๆ จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภายในอาคาร หรือ พื้นที่ใต้ชายคา ที่ไม่ได้รับน้ำฝน ลม ฝุ่นต่างๆ และ แบบภายนอกอาคาร หรือ พื้นที่ที่ต้องรับแรงลม น้ำฝน ฝุ่นละอองต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องระบุความต้องการกับผู้ออกแบบและติดตั้งอลูมิเนียม เพราะถ้าเลือกผิดประเภท อาจจะได้ประตูหน้าบ้านที่เปิด-ปิดได้ลื่น น้ำหนักเบา แต่ไม่กันฝนและฝุ่น หรือ อาจจะได้ประตู-หน้าต่างภายในอาคารที่มีธรณี จนเดินสะดุดหกล้มได้
กลุ่ม ประตู-หน้าต่าง สำหรับ ภายนอกอาคาร มีความจำเป็นต้องรองรับน้ำ ลม ฝุ่น เสียง แรงกระแทก หรือ มีขนาดใหญ่พิเศษ มีให้เลือกทั้ง ทั้งระบบไทยมาตรฐาน และ ระบบพัฒนา (ระบบพัฒนามีชื่อเรียกหลากหลาย ทั้งระบบยูโรบ้าง ระบบกึ่งยูโรบ้าง ระบบญี่ปุ่นบ้าง เราขอเรียกชื่อโดยรวมว่า ระบบพัฒนา) ระบบพัฒนาจะมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพของประตูหน้าต่าง อาทิ การป้องกันน้ำรั่ว, ป้องกันอากาศรั่ว, ทนแรงดันพายุ, กรองความร้อน, กันเสียงรบกวนเข้าบ้าน ฯลฯ โดย ไทยเม็ททอล เรียกว่า X-Series ประกอบไปด้วย ชุดช่องแสง, บานเลื่อน หลากหลายรุ่น, หน้าต่างบานเปิด/กระทุ้ง, ประตูบานเปิดแบบมีธรณีและวงกบรอบตัว, บานเฟี้ยม, ระบบผนังกระจกที่ประกอบด้วยบานใหญ่พิเศษสำหรับพื้นที่สูง ห้องโถง หรืออาคารสูง ที่เรียกว่า เคอร์เทนวอลล์ (curtain wall)



ประตู-หน้าต่าง ที่ติดตั้งภายนอกอาคาร
กลุ่ม ประตู-หน้าต่าง สำหรับ ภายในอาคาร หรือ พื้นที่ใต้ชายคา ที่ไม่ได้รับน้ำฝน ลม ฝุ่นต่างๆ ไทยเม็ททอล เรียกว่า INT-Series ระบบที่คัดเลือกมา ให้เหมาะกับ การกั้นพื้นที่ภายในอาคาร หรือ ใต้ชายคา ประกอบไปด้วย ชุดช่องแสง, บานเลื่อน ธรณีหลังเต่า (ธรณีลาดไปกับพื้น) , บานเลื่อนรางแขวน (ไม่มีธรณี) , ประตูบานเปิด (ไม่มีธรณี) , ประตูบานเปิดสำหรับห้องความดันลบแบบไม่มีธรณี, ประตูบานสวิง ที่เปิด เข้า-ออก ได้ 180 องศา , บานเฟี้ยมแบบ รางฝังพื้น



ประตู-หน้าต่างที่ติดตั้งภายในอาคาร
3. ประเภทและลักษณะของประตูหน้าต่างแบบต่างๆ อาทิ บานเลื่อน บานกระทุ้ง บานตาย บานสวิง บานเฟี้ยม ฯลฯ
3.1 ประตู-หน้าต่าง บานเลื่อน
“บานเลื่อน” สามารถทำได้ทั้งประตูและหน้าต่าง ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยประหยัดเนื้อที่ ใช้งานง่าย เปิดด้วยการเลื่อนบานจากซ้ายไปขวา (หรือขวาไปซ้าย) จึงเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้ตัวบ้าน และสะดวกต่อการใช้งาน บานเลื่อนคือประตูที่เลื่อนเปิดด้วยลูกล้อและรางที่อยู่ในวงกบ และมีรางมุ้งที่ติดมากับระบบรางอยู่แล้ว บานเลื่อนสามารถแบ่งย่อยออกได้หลายรูปแบบ
ตัวอย่างรูปแบบบานเลื่อน
บานเลื่อนสำหรับใช้ภายนอก มีความจำเป็นต้องรองรับน้ำ ลม ฝุ่น เสียง แรงกระแทก หรือ มีขนาดใหญ่พิเศษ จึงมาพร้อมธรณีและเฟรมวงกบที่กันน้ำรอบตัว ไทยเม็ททอลมีทั้งระบบไทยมาตรฐาน และ ระบบชุดพัฒนา (X-Series) ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำที่ดีกว่า ทำบานได้ใหญ่กว่า และกันเสียง กันแมลงต่างๆได้มากกว่า โดยการติดตั้งควรคำนึงถึงขนาด และระยะของเฟรม เพื่อให้ขอบปูนหรือระดับพื้นสอดคล้องกับระยะเฟรม


ประตูบานเลื่อน ติดตั้งภายนอก ระบบชุดพัฒนา X-Series รุ่น X20


ประตูบานเลื่อน ระบบชุดพัฒนา (X-Series) รุ่น X20 ใส่ตบธรณีเพิ่ม เพื่อความเรียบร้อย สวยงาม


หน้าต่างบานเลื่อน ติดตั้งภายนอกบ้าน ระบบชุดพัฒนา X-Series รุ่น X20
หน้าตัดเฟรมล่าง ระบบชุดพัฒนา X-Series รุ่น X20


หน้าต่างบานเลื่อน ติดตั้งภายนอกบ้าน ระบบชุดพัฒนา X-Series รุ่น X10
หน้าตัดเฟรมบน-ล่าง ระบบชุดพัฒนา X-Series รุ่น X10


รางประตู-หน้าต่างบานเลื่อน ติดตั้งภายนอก ระบบไทยมาตรฐาน
หน้าตัดเฟรมล่าง (ขาเตี้ย) ระบบไทยมาตรฐาน
บานเลื่อนสำหรับใช้งานภายใน หรือ พื้นที่ใต้ชายคา ที่ไม่ได้รับน้ำฝน ลม ฝุ่นต่างๆ จะเน้นไปที่การแบ่งพื้นที่ กั้นห้อง หรือใช้งานในจุดที่ไม่ต้องการธรณีประตู การติดตั้งควรคำนึงถึงฟังค์ชั่นการใช้งานของพื้นที่เพื่อเลือกรุ่นให้เหมาะสม ปัจจุบัน บานเลื่อนสำหรับใช้ภายในมีให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ บานเลื่อนรางแขวน หรือที่เรียกว่าบานแขวน (ไม่มีธรณี) และบานเลื่อนธรณีหลังเต่า (ธรณีลาดไปกับพื้น)
บานเลื่อนรางแขวน (ไม่มีธรณี)
บานเลื่อนธรณีหลังเต่า (ธรณีลาดไปกับพื้น)
หน้าตัดเฟรมล่างหลังเต่า 2 ราง
หน้าตัดเฟรมล่างหลังเต่า 3 ราง
ความแตกต่างของประตู-หน้าต่างบานเลื่อนระบบไทยมาตรฐาน และระบบพัฒนา อาจสังเกตได้จาก “เฟรมล่าง” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ราง” เพราะเฟรมล่างหรือรางของระบบพัฒนาจะถูกออกแบบให้ช่วยกันน้ำ รวมถึงป้องกันสิ่งแปลกปลอมมากกว่าระบบไทย (ชุดท้องตลาดทั่วไป)
เปรียบเทียบหน้าตัดเฟรมล่าง ระบบไทยมาตรฐาน และระบบพัฒนา
เปรียบเทียบบานเลื่อนระบบไทยมาตรฐาน และระบบพัฒนา แบบ Side View
การออกแบบบานเลื่อน สามารถกำหนดจำนวน และ การแบ่งบานให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ ตั้งแต่ 2 บาน 3 บาน และ 4 บาน โดยบานประตูอาจเลื่อนได้เป็นบางบานหรือเลื่อนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเลื่อนไปในทางเดียวกันเพื่อเก็บที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของประตู หรือเลื่อนสลับจากแต่ละด้านเข้าหากัน โดยคำนึงถึงทิศทางการเดินเข้าออกของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ
บานเลื่อน 2 บาน เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยม เพราะมีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ของบ้านพักอาศัยในไทยส่วนใหญ่ เจ้าของบ้านสามารถกำหนดให้เลื่อนสลับได้ทั้ง 2 ฝั่ง (Slide-Slide) หรือจะเลื่อนแค่บานเดียวก็ได้ (Slide-Fix)
บานเลื่อนสลับ 2 บาน ที่เลื่อนสลับจากแต่ละด้านเข้าหากัน


ประตู-หน้าต่าง บานเลื่อน 2 บาน
บานเลื่อน 3 บาน หรือบานลากจูง (Slide-Slide-Fix) ช่วยให้ได้พื้นที่การเปิดถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่บาน เพราะสามารถเลื่อน 2 บานให้เก็บซ้อนกันในตำแหน่งของบาน Fix เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยในการเข้า-ออกเพิ่มมากขึ้น
บานเลื่อนลากจูง 3 บาน ที่เลื่อนเปิดบานไปในทิศทางเดียวกัน


ประตู-หน้าต่าง บานเลื่อนลากจูง 3 บาน
บานเลื่อนแบ่ง 4 บาน (Fixed-Slide-Slide-Fixed) จะเปิดตรงกลางเพื่อให้บานซ้าย-ขวา เลื่อนไปซ้อนเก็บอยู่ในตำแหน่งบาน Fix ด้านข้างของทั้งสองฝั่ง
บานเลื่อนแบ่ง 4 บาน


ประตู-หน้าต่าง บานเลื่อน แบ่ง 4 บาน
หากสังเกตบานเลื่อนที่มีหลายๆบาน เจ้าของบ้านจะเห็นว่าเสาแนวตั้งในประตู-หน้าต่างอาจมีขนาดเท่ากันหรือต่างกัน เสาเหล่านี้ทำหน้าที่ยึดกระจกให้เลื่อนไปตามรางบนและรางล่างเพื่อเปิด-ปิดบาน โดยเสาที่เราเห็นจะมีอยู่ 2 แบบ คือ เสากุญแจ และเสาเกี่ยว
ภาพแสดงตำแหน่ง “เสากุญแจ” และ “เสาเกี่ยว”
เสากุญแจ คือ เสาที่ติดตั้งอุปกรณ์ล๊อคของบานประตู-หน้าต่าง เพื่อทำหน้าที่ล็อคระหว่างบานด้วยกัน หรือล็อคระหว่างตัวบานกับเฟรม (เฟรม = วงกบที่ติดตั้งกับผนังปูน) ขนาดความกว้างมาตรฐานของเสากุญแจทั่วไปคือ 5 ซม.
เสากุญแจ ทำหน้าที่ล็อคบาน
เสาเกี่ยว จะทำหน้าที่เกี่ยวระหว่างตัวบาน เพื่อลากจูงอีกบานให้เลื่อนเปิดหรือปิด โดยไทยเม็ททอลมีเสาเกี่ยวให้เลือก 2 ขนาด คือกว้าง 3 ซม. และ 5 ซม. ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน เช่น หากต้องการให้ทุกเสาของประตูหน้าต่างมีขนาดเท่ากัน ก็สามารถเลือกใช้เสาเกี่ยวขนาด 5 ซม. เพื่อให้ภาพรวมดูสมมาตร
เสาเกี่ยว ทำหน้าที่เกี่ยวระหว่างตัวบานให้เลื่อนเปิด-ปิด
3.2 หน้าต่าง บานเปิด / บานกระทุ้ง
หน้าต่างบานเปิด / บานกระทุ้ง เป็นระบบที่สามารถกันน้ำ ฝุ่น เสียง ได้ดีที่สุด เพราะวงกบบานมียางหุ้มรอบตัว มักมีราคาสูงกว่าบานเลื่อน และทำขนาดได้ไม่ใหญ่มาก หน้าต่างบานเปิด / บานกระทุ้ง สามารถติดตั้งได้ทั้งแบบบานเดี่ยวหรือบานเปิดคู่ และยังติดตั้งคู่กับช่องแสงได้ตามต้องการ
หน้าต่างบานเปิด
หน้าต่างบานเปิดและบานกระทุ้ง มีกลไกการเปิดที่เหมือนกัน ต่างกันที่ทิศทางในการเปิด โดย“หน้าต่างบานเปิด” จะเปิดโดยผลักตัวบานออกไปด้านหน้า ในขณะที่ “บานกระทุ้ง” จะเปิดด้วยการผลักตัวบานจากด้านล่างขึ้นไปข้างบน
หน้าต่างบานกระทุ้ง
การติดตั้งหน้าต่างบานเปิดหรือบานกระทุ้ง ควรคำนึงถึงตำแหน่งของหน้าต่างให้ดี เพราะต้องเหลือพื้นที่ไว้รองรับการเปิดของบานด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ หน้าต่างประเภทนี้จึงมักติดตั้งในจุดที่ไม่มีคนเดินผ่านบ่อย โดยหน้าต่างบานเปิด / บานกระทุ้ง สามารถประยุกต์การติดตั้งได้หลายรูปแบบตามความสวยงามหรือความเหมาะสมของพื้นที่
ตัวอย่างรูปแบบบานเปิด
ตัวอย่างรูปแบบบานกระทุ้ง
หน้าต่างบานเปิดเดี่ยว
หน้าต่างบานเปิดคู่
โดยทั่วไป การเรียกว่าบานเปิด คือการใช้บานพับที่จุดหมุนจะอยู่ที่วงกบ มักจะติดตั้งในลักษณะเปิดด้านข้าง เปิดได้ 90 องศาหรือมากกว่า แต่ต้องระวังลมตี เพราะบานพับไม่สามารถเปิดค้างแล้วล็อกไว้ได้ ส่วนบานกระทุ้งคือหน้าต่างที่ใช้แขนค้ำระบบฝืด (friction stay) เป็นตัวบังคับการเปิดปิด เมื่อเปิดแล้ว หน้าต่างจะค้างไว้ด้วยแขนค้ำ ไม่พับกลับเมื่อโดนลมตี ติดตั้งได้ทั้ง กระทุ้งจากด้านข้าง หรือ กระทุ้งจากด้านล่างบาน
แขนค้ำ (Friction Stay) ในหน้าต่างบานเปิด/กระทุ้ง
เจ้าของบ้านสามารถเลือกทิศทางการเปิดของบาน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน หรือทิศทางลมที่ต้องการ หรือใช้ในจุดที่ต้องการเปิดระบายอากาศอยู่ตลอดเวลา เช่น ทำเป็นบานเล็กๆ ในห้องน้ำ ห้องครัว หรือทางเดินระหว่างบันได ราคาบานกระทุ้งมักมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าบานเลื่อน เพราะต้องใช้อลูมิเนียมที่หนาขึ้น และอุปกรณ์ติดตั้งที่รับแรงลมได้มากขึ้น
การติดตั้งบานกระทุ้งตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน
บานเปิด/บานกระทุ้ง ไทยเม็ททอลมีให้เลือกทั้งระบบไทย และ ระบบพัฒนา ระบบไทยจะมีกรอบเฟรมที่เล็กกว่า เหมาะกับการทำบานขนาดเล็ก และไม่ได้รับแรงลมที่แรงกว่าพื้นราบทั่วไป ส่วนระบบพัฒนาของไทยเม็ททอลมีชื่อว่ารุ่น A40 เหมาะสำหรับบานขนาดใหญ่ หรือบานที่ต้องรับแรงลมในระดับอาคารสูง
หน้าต่างบานเปิด/กระทุ้ง “ระบบไทยมาตรฐาน” และ “ระบบพัฒนา รุ่น A40”
- ประตูบานเปิด
ประตูบานเปิดคือ ประตูที่ใช้ได้ทั้ง ภายใน และ ภายนอกอาคาร มีระบบบังใบรอบตัว ต้องเลือกรูปแบบ การเปิดเข้า หรือ เปิดออกตั้งแต่ติดตั้ง ประตูบานเปิดสามารถปรับใช้ได้ ทั้งบานเดี่ยว และ บานคู่ และยังปรับใช้ภายในอาคารโดยไม่ต้องการธรณีล่าง ก็ติดตั้งได้โดยไม่มีธรณีล่าง หรือ สำหรับจุดที่ต้องรับน้ำ ลม ฝุ่น หรือ ภายนอกอาคาร ก็เพิ่มธรณีล่างได้เช่นกัน (ช่างอลูมิเนียมมักจะเรียกระบบประตูบานเปิดนี้ว่า บานเปิดวงกบไม้ เพราะเป็นการทำอลูมิเนียมให้มีวงกบบังใบ เหมือนวงกบประตูไม้)


ประตูบานเปิด ติดตั้งภายใน และภายนอก
นอกจากตำแหน่งติดตั้งแล้ว บานเปิดยังสามารถเลือกวัสดุผสมได้ถึง 3 แบบ คือ กระจก, อลูมิเนียมแผ่น , หรืออลูมิเนียมช่องลม เพื่อการใช้งานที่แตกต่าง อาทิ บานกระจกเป็นประตูหน้าบ้าน หรือ แบ่งห้อง บานอลูมิเนียมเป็นบานทึบปิดประตูรั้ว หรือ บานช่องลมเป็นบานห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ ทั้ง 3 แบบสามารถเพิ่ม ระบบล๊อกไฟฟ้า หรือ ระบบสแกนนิ้ว หรือ โช๊คอัพเพื่อให้บานปิดกลับอัตโนมัติได้


ประตูบานเปิด ติดตั้งกับกระจก (บานเปิดเดี่ยว บานเปิดคู่)
ประตูบานเปิดทึบ ติดตั้งกับอลูมิเนียมแผ่น
ประตูบานช่องลม
3.4 บานสวิง
ประตูบานสวิงมีหน้าตาคล้ายกับประตูบานเปิด แต่แตกต่างกันที่บานสวิงสามารถผลักเข้า-ออกได้ทั้งสองทาง (180 องศา) จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีคนเดินเข้าออกบ่อยๆ เพราะเปิด-ปิดง่าย โดยประตูบานสวิง เหมาะกับการใช้งานภายใน หรือติดตั้งบริเวณภายนอกที่มีกันสาด เพราะไม่มีระบบกันน้ำ บานสวิงสามารถติดตั้งแบบไม่มีธรณีประตูหรือมีธรณีแบบไม่กันน้ำได้ การติดตั้งบานสวิงมักจะติดตั้งพร้อมกับโช๊คอัพที่ฝังบนวงกบและฝังที่พื้น เป็นเสมือนบานพับประตู หรือบางท่านเรียกว่า โช็คอัพ (door closer)



ประตูบานสวิง (เปิดเดี่ยว และเปิดคู่)
3.5 บานเฟี้ยม
ประตูบานเฟี้ยม คือบานที่พับทับกันเป็นชั้นๆ โดยประกอบไปด้วยบานประตูเล็กๆ หลายบานที่มาต่อกันด้วยบานพับ หากพับเก็บบานจนสุด จะสามารถเปิดรับวิวได้เต็มที่ ช่วยให้บ้านดูกว้างและโล่งมากกว่าประตูรูปแบบอื่น รองรับการใช้งานที่หลากหลาย สามารถติดตั้งเพื่อเป็นประตู-เข้าออก กั้นพื้นที่ภายในระหว่างห้อง หรือภายในและภายนอกบ้าน ระบบรางของบ้านเฟี้ยมจะมีระบบกันน้ำ สำหรับใช้งานภายนอก และ ระบบฝังรางลงพื้นสำหรับภายในเพื่อไม่ให้สะดุดบาน บานเฟี้ยมจัดเป็นชนิดบานที่มีราคาสูงที่สุด เพราะใช้อลูมิเนียมที่มีความหนาพิเศษในการรับแรง และใช้อุปกรณ์บานพับ ตัวล็อกต่างๆ มากกว่าบานชนิดอื่นๆ
ตัวอย่างรูปแบบบานเฟี้ยม
การออกแบบบานเฟี้ยมต้องคำนึงถึงจำนวนบานและทิศทางการพับของบานให้ตรงกับทางเดิน เช่น ต้องมีบานพับไปทางซ้ายกี่บาน และพับไปทางขวากี่บาน เพื่อให้เปิดเข้าออกสะดวกมากที่สุด


ประตูบานเฟี้ยม


หน้าต่างบานเฟี้ยม
3.6 บานตาย หรือ บานช่องแสง
หน้าต่างบานติดตายหรือช่องแสง คือบานที่เปิดไม่ได้ ติดตั้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการรับแสงธรรมชาติ บ้านส่วนใหญ่จึงติดตั้งช่องแสงแทนผนังด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้บ้านดูกว้างขวาง สวยงาม โดยหน้าต่างบานตายหรือบานช่องแสงจะได้พื้นที่กระจกกว้าง รับวิวได้เต็มที่ ให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย ไม่อึดอัด ข้อดีของบานตายหรือช่องแสง คือไม่มีอุปกรณ์เสริมเหมือนหน้าต่างชนิดอื่นๆ จึงไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อย และสามารถผสมช่องแสงกับประตู-หน้าต่างชนิดอื่นๆได้อย่างอิสระตามความเหมาะสม เช่น ช่องแสงข้างๆประตูทางเข้าบ้าน หรือ ช่องแสงด้านบนบานเลื่อน เป็นต้น
ระบบบานช่องแสง มีขนาดเฟรมให้เลือก 3 ขนาด ได้แก่ 1”3/4 x 4” (อ่านว่า นิ้วหก คูณ สี่นิ้ว), 2”x 4”(สองนิ้ว คูณ สี่นิ้ว) และขนาดที่เล็กที่สุดคือ 1”x 4” (นิ้ว คูณ สี่นิ้ว) ซึ่งให้ลุคที่สลิม เหมาะกับการติดตั้งเป็นบานภายใน โดยแต่ละขนาดก็จะมีความหนาของอลูมิเนียม และการรองรับความหนากระจกที่ไม่เท่ากัน



ช่องแสงที่ใช้เฟรมขนาด 1”x 4”



ช่องแสงที่ใช้เฟรมขนาด 1”3/4 x 4”



ช่องแสงที่ใช้เฟรมขนาด 2”x 4”
3.7 ระบบผนังกระจกเคอร์เทนวอลล์
ชุดอลูมิเนียมเคอร์เทนวอลล์ คือระบบผนังกระจกที่สามารถทำได้ขนาดความสูงและกว้างขึ้น เพื่อรองรับแรงลม หรือ จุดที่ต้องการความแข็งแรงมากขึ้น มักใช้สำหรับผนังกระจกที่มีความสูงมากๆเกินที่ช่องแสงธรรมดาจะทำได้ หรืออาคารสูง หรือห้องที่ต้องการความโล่ง โปร่ง ช่วยให้มองเห็นวิวจากภายนอกชัดเจน ประยุกต์การใช้งานได้หลากหลาย อาทิ ผนังอาคาร ห้องโถง โถงบันได หรือห้องกระจกภายใน สามารถออกแบบให้ทำสูงได้ตั้งแต่พื้นถึงเพดาน (floor to ceiling) เพราะตัวระบบอลูมิเนียม รับน้ำหนักได้ดีกว่าช่องแสงบานตายทั่วไป
ระบบเคอร์เทนวอลล์รองรับความหนากระจกได้มากกว่าช่องแสงทั่วไป เพราะบานมักจะมีขนาดใหญ่กว่า สามารถรองรับกระจกได้ตั้งแต่ 8 ถึง 24 มิลลิเมตร


ระบบผนังกระจกเคอร์เท่นวอลล์ Curtainwall
4. ผู้ใช้งานมีความต้องการอย่างไร เช่น เป็นจุดที่เปิด-ปิดบ่อย, มีการใช้รถเข็น, มีเด็กเล็ก, ห้องความดันลบ, ระบบล็อคอัตโนมัติ ฯลฯ
เจ้าของบ้านควรแจ้งลักษณะการใช้งานให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ติดตั้งแนะนำระบบประตูหน้าต่างที่ตอบโจทย์มากที่สุด เช่น หากติดตั้งบานเลื่อนในจุดที่ต้องมีการใช้รถเข็นผ่านบ่อยๆ ควรเลี่ยงการใช้ระบบบานเลื่อนที่มีราง หรือธรณีสูง เพื่อป้องกันปัญหาสะดุดราง หรือหากติดตั้งระบบบานหมุน อาจทำให้เหลือพื้นที่สำหรับเข้า-ออกน้อยลง และไม่เหมาะกับการเปิด-ปิดบ่อยๆ
การใช้ระบบบานเลื่อนที่มีธรณีต่ำ ป้องกันปัญหาเดินสะดุด


การตกแต่งบ้านด้วยประตูบานหมุน ซึ่งต้องคำนึงถึงพื้นที่เข้า-ออกหลังจากเปิดบาน
5. การทดสอบของประตูหน้าต่าง เช่น มอก.ระดับ 1-5 หรือ มาตรฐานอื่นๆ อาทิ การกันน้ำ กันลม กันฝุ่น
ประตูและหน้าต่างที่ดีต้องมีมาตรฐานการทดสอบรองรับ เช่น มอก.744-2563 สำหรับหน้าต่าง และ มอก. 829-2563 สำหรับประตู ควรมีประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานเพื่อให้เจ้าของบ้านมั่นใจได้ว่าประตู-หน้าต่างที่ตนเลือกใช้จะช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอม มอบความปลอดภัย เพิ่มความสะดวกสบาย และเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย โดยในปัจจุบัน มีองค์กรต่างๆที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานว่าประตู-หน้าต่างที่ดีควรผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในด้านไหน เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
- ทดสอบแรงที่ใช้เปิด – ประตูหน้าต่างที่ดีต้องไม่ฝืด หรือติดขัดเวลาใช้งาน เจ้าของบ้านสามารถเปิดปิดได้ง่ายดาย โดยออกแรงในระดับที่เหมาะสม
- ทดสอบการรั่วซึมของอากาศ – ประตู-หน้าต่างที่ได้มาตรฐานต้องไม่มีอากาศรั่วไหลทั้งจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน และจากภายในบ้านออกสู่ภายนอก หากอากาศจากด้านนอกสามารถรั่วไหลเข้าสู่ตัวบ้าน จะทำให้เกิดปัญหาเสียงหวีดลมเมื่อเจอลมพายุ มีฝุ่นละอองเข้าบ้าน รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ ในขณะเดียวกัน หากอากาศจากภายในบ้านรั่วไหลออกสู่นอกบ้าน ก็จะเพิ่มการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน และต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นโดยใช่เหตุ
- ทดสอบการรั่วซึมของน้ำ – พายุฝนมักมาพร้อมกับแรงลมที่ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่ตัวบ้านได้ ประตู-หน้าต่างที่ดีจึงต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันน้ำฝนรั่วซึมเมื่อเกิดแรงลม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพื้น ผนัง หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน
- ทดสอบการโก่งตัว – เมื่อเกิดลมพายุแรง ประตู-หน้าต่างที่ไม่ได้คุณภาพอาจมีการโก่งตัว ส่งผลให้บานหลุดแตกออกมาจากวงกบ และเป็นอันตรายกับเจ้าของบ้าน ประตู-หน้าต่างที่ดี จึงต้องมีความแข็งแรง ทนทาน มั่นใจได้ว่าปลอดภัย ไม่โก่งหรือแอ่นตัวเมื่อเจอลมพายุแรงๆ หรือเมื่อเกิดแรงกระแทก เช่นแรงจากการระเบิดของสิ่งแวดล้อม
- ทดสอบแรงพิสูจน์ คือการทดสอบค่าความปลอดภัยจากการคำนวณแรงดันลม (safety factor)จะต้องทนแรงดันได้ไม่ต่ำกว่า1.5เท่าของแรงดันที่ใช้คำนวณ โดยที่ประตูหน้าต่างยังคงรูปไม่เสียหายจากแรงดันพิสูจน์
ตัวอย่างการทดสอบมาตรฐานประตู หน้าต่าง อลูมิเนียม Link : https://youtu.be/Xk5StuGOA2o
ภาพการทดสอบการรั่วซึมของน้ำ
ภาพการทดสอบแรงเปิด
6. สี ความหนา และ เกรด ของเนื้ออลูมิเนียม
อลูมิเนียมของไทยเม็ททอล มีการทำสีอยู่ 2 ระบบคือ แบบชุบสีอโนไดซ์ และระบบพ่นสีฝุ่น (powder coating)
สีชุบ หรือที่เรียกว่า อโนไดซ์ คือการนำอลูมิเนียมมาชุบน้ำยาเคมีและประจุไฟฟ้า เพื่อให้สีเข้าไปอยู่ในเนื้ออลูมิเนียม โดยมีสีมาตรฐานทั้งหมด 4 สี คือ สีชุบขาว (Natural) รหัส 510, สีชุบชาอ่อน (Light Bronze) รหัส 512, สีชุบชาแก่ (Dark Bronze) รหัส 514, สีชุบดำ (Black) รหัส 519 เครื่องจักรกระบวนการชุบสีของไทยเม็ททอล ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพื่อให้สีมีความสม่ำเสมอ เท่ากันในทุกๆ ล๊อตการผลิต สี ติดทนนาน ผ่านกระบวนการ QA และ QC ทุกชิ้นงาน

สีเงิน Silver หรือสีอลูมิเนียม (สีชุบขาว N/A Natural Anodize)

สีชุบชาอ่อน Light Bronze (ชุบสี 512)

สีชุบดำ Black (ชุบสี 519)
ชั้นความหนาของสีระบบชุบ จะมีความหนามาตรฐานที่ 10 +-2 ไมครอน ทั้งนี้ สามารถสั่งผลิตที่ 15+-2 และ 20+-2 ไมครอนได้ ตามมาตรฐาน ASTM D1400, ASTM D2244 , ASTM B117, ASTM D1654
การเคลื่อนย้ายชิ้นงานด้วยเครนอัตโนมัติเพื่อนำอลูมิเนียมลงบ่อชุบ
สีชุบอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ตามความคุ้นชินของผู้รับเหมา หรือ ช่างแต่ละท้องถิ่น เช่น สีชุบขาว (Natural Anodized) ที่ได้ผิวอลูมิเนียมสีเงิน เงา อาจมีช่างบางท่านเรียกว่า “สีอลูมิเนียม” “สี NA” “สีธรรมชาติ” หรือ “สีเงิน” เป็นต้น
สีพ่น ในส่วนของระบบการพ่นสีฝุ่น หรือที่เรียกว่า Powder Coating “ไทยเม็ททอล” ได้สร้างนวัตกรรม PowderTechTM ซึ่งช่วยให้งานพ่นสีมีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานประเทศสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญก็คือ กระบวนการทำสีของไทยเม็ททอลจะไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายในทุกขั้นตอนการผลิต โดยอลูมิเนียมจะผ่านการอบความร้อนที่ 200 องศา ทำให้โมเลกุลสีเข้ากับผิวอลูมิเนียมอย่างแน่นสนิท ไม่ทำให้สีหลุดลอกล่อน และใช้สารในกลุ่ม “เซอร์โคเนียม” เพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งานแทนสาร “โครเมียม” ซึ่งถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลเสียต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงทำให้ปอดถูกทำลาย โดยมีสีมาตรฐานผิวเรียบและผิวทรายทั้งหมด 7 สี โดยผิวเรียบจะมี สีขาวฟ้า (Blue White) สีขาวนม (Milky White) สีดำ (Space Black) สีน้ำตาลเข้ม (Autumn Brown) และผิวทราย จะมีสีน้ำตาลเข้ม (Dark Oak) สีน้ำตาลอ่อน (Teak Brown) และสีเทา (Sahara Grey) โดยช่างหรือผู้รับเหมาจะเรียกชื่อสีที่ต่างกันออกไป เช่น พ่น อบ เคลือบ ทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิดและสื่อสารผิดพลาด จึงควรเน้นย้ำกับช่างหรือผู้รับเหมาเพื่อความถูกต้อง

สีขาวนม Milky White (ผิวเรียบ)

สีขาวฟ้า Blue White(ผิวเรียบ)

สีน้ำตาล Autumn Brown (ผิวเรียบ)

สีดำ Space Black (ผิวเรียบ)

สีเทาซาฮาร่า Sahara Grey (ผิวทราย)

สีน้ำตาลเข้ม Dark Oak (ผิวทราย)

สีน้ำตาลอ่อน Teak Brown (ผิวทราย)
ชั้นความหนาของสีระบบชุบ จะมีความหนามาตรฐานที่ 60-80 ไมครอน โดยเป็นความหนาที่ดีที่สุด เหมาะกับการอบความร้อน 200 องศา ไม่ทำให้สีหนา หรือ บาง เกินไป หรือ เกิดลักษณะผิวส้มกับชิ้นงาน ตรงตามมาตรฐานประเทศสหรัฐอเมริกา รับประกัน 10 ปี เงื่อนไขการรับประกัน
การพ่นสีฝุ่นอัตโนมัติในแนวตั้ง
สีพ่น อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ตามความคุ้นชินของผู้รับเหมา หรือ ช่างแต่ละท้องถิ่น เช่น “สีอบ” “สีพ่น” “สีเคลือบ” เป็นต้น และหากสนใจเป็นสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีมาตรฐานของทางไทยเม็ททอล เพียงระบุ รหัสสี โอยอ้างอิง รหัส RAL หรือ Pantone หรือ รหัสของผู้ผลิต “สีฝุ่น” โดยระบุความเงาของสี ระบุชนิดของผิว ผิวเรียบ หรือ ผิวทราย ทั้งนี้ การสั่งสีพิเศษ จะขึ้นอยู่การ เงื่อนไขการผลิตสีขั้นต่ำ ของผู้ผลิตผงสี เช่น สีบางเฉดอาจจะต้องสั่งสี 200 กิโลกรัมสี ซึ่งสามารถนำมาพ่นชิ้นงานอลูมิเนียมได้ถึง 1000 กิโลกรัม

ตัวอย่างพื้นผิวของสีเทาซาฮาร่า มีลักษณะผิวหยาบ หรือที่เรียกว่า “ผิวทราย”
“ความหนาของอลูมิเนียม” ความหนาอลูมิเนียมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน เช่น ยิ่งอลูมิเนียมมีความหนามากก็จะยิ่งแข็งแรงมาก ซึ่งความจริงแล้วข้อมูลนี้ถูกต้องเพียงบางส่วน ความหนาอลูมิเนียมที่มีความเหมาะสมในการนำมาประกอบติดตั้งเป็นประตู-หน้าต่างจะอยู่ที่ 1.2 มม. หรือ บานเปิด/กระทุ้ง จะอยู่ที่ 1.5 มม. ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายที่ได้พัฒนาระบบอลูมิเนียมให้มีความหนาที่เหมาะสมในเชิงวิศวกรรม กล่าวคือ อลูมิเนียมไม่จำเป็นต้องมีความหนามาก แต่ก็มั่นใจได้ในประสิทธิภาพที่เหนือกว่าประตู-หน้าต่างที่เป็นรุ่นท้องตลาดทั่วไป เพราะผ่านการออกแบบระบบหน้าตัดให้มีความแข็งแรง รองรับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สามารถล็อคได้หลายจุด มอบความปลอดภัยได้มากกว่า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ (เช่น อากาศ น้ำ เสียง ฝุ่นละออง แมลง) ไม่ให้เล็ดลอดเข้าสู่ตัวบ้าน
โดยระบบที่ถูกพัฒนานี้ ในวงการอลูมิเนียมจะเรียกกันว่า “ชุดพัฒนา” ซึ่งเหมาะสำหรับเจ้าของบ้านที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ผู้ที่ต้องการความเงียบสงบสำหรับการพักผ่อนในห้องนอน ก็สามารถเลือกติดตั้งระบบประตู-หน้าต่างชุดพัฒนาร่วมกับกระจกที่ช่วยป้องกันเสียงรบกวน เป็นต้น
“เกรดของอลูมิเนียม” อลูมิเนียมที่ใช้งานกันอยู่ เป็นโลหะที่เกิดจากการผสมโลหะหลายชนิดเข้าด้วยกัน อาทิ ผสมแมกนิเซียม ซิลิกอน หรือ ไทเทเนี่ยม เป็นต้น เกรดอลูมิเนียมที่เหมาะสมสำหรับทำประตูหน้าต่างคือ 6063T5 ซึ่งเป็นเกรดที่ยอมรับกันทั่วโลก มีความแข็งที่พอดี สามารถประกอบได้อย่างแข็งแรง
7. ชนิดกระจกที่เหมาะสมกับการใช้งาน
ในการติดตั้งบานประตู หน้าต่างอลูมิเนียม สิ่งสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาร่วมกับอลูมิเนียมคือ กระจก เพราะกระจกจะอยู่ติดกับกรอบบานประตู หน้าต่างที่เราต้องใช้งานอยู่สม่ำเสมอ โดยกระจกในแต่ละรูปแบบ ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป และยังมีกระจกที่ช่วยลดแสง ลด UV หรือ มีสีเทา สีชา อีกหลากหลายชนิด
-
กระจกธรรมดา/กระจกโฟลต
กระจกที่โรงงานกระจกผลิตขึ้นมาจำหน่ายทั่วไป เป็นกระจกที่มีผิวทั้งสองด้านเรียบสนิท เป็นกระจกที่มีความโปร่งใส มีความหนาที่นิยมใช้ คือ 5 ,6 ,8 มิลลิเมตร ถ้าต้องการหนากว่านี้ ระบบอลูมิเนียมจะต้องรองรับความหนาและน้ำหนักกระจกได้ด้วย


(ที่มา: https://www.wazzadu.com/article/1299)
-
กระจกลามิเนต
เป็นการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมายึดติดกันด้วยแผ่นฟิล์ม (PVB) คล้ายๆแซนวิช ที่มีความเหนียวทนทานคั่นอยู่ระหว่างกลาง ทำหน้าที่ยึดเกาะให้กระจกติดกัน เมื่อกระจกถูกกระแทกจนแตก แผ่นฟิล์มจะยึดเกาะมิให้กระจกที่แตก หลุดร่วง จะมีเพียงรอยแตก หรือรอยร้าวคล้ายใยแมงมุมเท่านั้น ปัจจุบันการผลิตกระจกลามิเนต ยังสามารถใส่ลวดลายในชั้นแผ่นฟิล์มได้มากมาย ความหนาที่นิยมใช้ คือ 3+3 , 4+4 มิลลิเมตร
(ที่มา : https://www.agc-flatglass.co.th/product/กระจกลามิเนต)
(ที่มา : https://www.white-glass.com/laminated-glass-กระจกลามิเนต/)
-
กระจกเทมเปอร์
กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) เป็นกระจกที่ผ่านการอบความร้อนให้แข็งพิเศษ แข็งแรงกว่ากระจกทั่วไปประมาณ 4-5 เท่า เมื่อกระจกแตก กระจกจะแตกตัวเป็นเม็ดข้าวโพด ซึ่งอันตรายน้อยกว่ากระจกปกติที่แตกเป็นปากฉลาม ความหนาที่นิยมใช้ คือ 5, 6, 8 มิลลิเมตร
การแตกของกระจกทั่วไป และกระจกเทมเปอร์
(ที่มา: https://gharpedia.com/blog/clear-glass-vs-tempered-toughened-glass/)
-
กระจกอินซูเลท
กระจกอินซูเลท หรือกระจกฉนวนอากาศ ประกอบด้วยกระจก 2 แผ่นคั่นด้วยอากาศแห้ง หรือ เป็นแก๊สตรงกลางระหว่างกระจก 2 แผ่น โดยแก๊สนี้โดยทั่วไปจะเป็นแก๊สเฉื่อยหรืออากาศแห้ง เพื่อลดการนำความร้อนระหว่างแผ่นกระจกทั้งสองแผ่นหรือลดการควบแน่นของไอน้ำด้านนอกในกรณีฝนตก และลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในได้ดีขึ้น กระจกชนิดนี้จะมีความหนารวมช่องว่า ที่หนามาก เพราะฉะนั้นระบบอลูมิเนียมจะต้องรองรับความหนาและน้ำหนักกระจกได้ด้วยถึงจะติดตั้งได้
(ที่มา : https://www.smg-con.co.th/product-detail.php?id=6)
-
กระจกฝ้า
กระจกฝ้า คือกระจกที่ผ่านการพ่นทรายเพื่อให้มีความทึบแสงมากขึ้น ให้ใช้ในกรณีที่ต้องการปิดกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงต้องการให้แสงส่องผ่านได้ โดยส่วนมาก กระจกฝ้าที่จะนำมาใช้ทำเป็น กระจกห้องอาบน้ำ ตู้อาบน้ำ หรือฉากกั้นอาบน้ำ โดยความหนาที่นิยมใช้ คือ 5, 6, 8 มิลลิเมตร
(ที่มา: http://srang-baan.com/กระจกฝ้า/)
-
กระจกตกแต่งอื่นๆ อาทิ กระจกลายผ้า กระจกลูกฟูก กระจกเงา กระจกลายโบราณ กระจกสีเทา กระจกสี


(ที่มา: https://www.naibann.com/45-color-glass-window-ideas/ , https://www.wazzadu.com/article/6286 )
8. อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบ ประตู-หน้าต่าง อาทิ ลูกล้อ มือจับ ตัวล็อก ซิลิโคน ยางกันน้ำ การฉีดโฟม ฯลฯ
อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การใช้งานประตูหน้าต่างมีความง่าย สะดวกสบายมากขึ้น เช่น การใช้ลูกล้อที่มีคุณภาพดีจะช่วยให้เลื่อนบานได้ลื่นขึ้น ส่งผลให้อายุการใช้งานของประตูหน้าต่างยาวนานกว่าเดิม
มือจับประตู-หน้าต่าง
แขนค้ำสำหรับติดตั้งกับหน้าต่างบานเปิด/กระทุ้ง
มือจับสำหรับประตูบานเลื่อน
9. ความชำนาญการของผู้ติดตั้งอลูมิเนียม
การติดตั้งประตู-หน้าต่างของช่างอลูมิเนียมเป็นศาสตร์เฉพาะที่แยกออกจากผู้รับเหมาโครงสร้าง ปัจจุบัน จึงมีบริษัทที่รับติดตั้งประตูหน้าต่างโดยเฉพาะ เจ้าของบ้านจึงควรเลือกผู้ติดตั้งที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ มีตัวอย่างผลงานที่น่าเชื่อถือ และเลือกใช้เส้นอลูมิเนียมจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
เจ้าของบ้านอาจสอบถามช่างว่าสามารถทำได้ทั้งระบบไทยมาตรฐาน และระบบพัฒนาหรือไม่ ถนัดงานติดตั้งแบบไหน เช่น งานบ้าน งานโครงการ แนวราบ/แนวสูง และต้องตรวจสอบสเป็ค ความถูกต้องของวัสดุ ยี่ห้ออลูมิเนียม ความหนา ระบบที่เลือกใช้ ชนิดของบาน ระบบสี กระจก และอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบ อาทิ มือจับ ตัวล็อก ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด โดยสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือจาก check list ด้านล่าง ก่อนจะตัดสินใจเลือกผู้รับเหมา หรือช่างติดตั้ง
- มีบริษัท (หรือร้านค้า) ที่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งแน่นอน
- มีประสบการณ์ มีตัวอย่างผลงานที่น่าเชื่อถือ
- มีเอกสารสัญญาที่ระบุรายละเอียดชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้
- ค่าจ้างและการจ่ายเงินงวดที่ชัดเจน
- กำหนดระยะเวลาการผลิต และการติดตั้งที่แน่นอน
- มีการรับประกันความเสียหาย และระยะเวลาประกันงาน
- ระบุเงื่อนไขปรับลดค่าจ้างในกรณีที่งานเสร็จล่าช้า
ผู้ติดตั้งต้องสามารถแจกแจงสเป็ค วัสดุอุปกรณ์ และระบบต่างๆได้อย่างละเอียด
10. ข้อจำกัดของพื้นที่ติดตั้ง
เจ้าของบ้านควรตรวจสอบข้อจำกัดต่างๆของพื้นที่ติดตั้งให้ละเอียด เช่น สามารถขนส่งบานขนาดใหญ่เข้าไปได้หรือไม่ งานซ่อมแซม(รีโนเวท) ต้องมีการรื้อถอน หรือ เกี่ยวข้องกับวัสดุอื่นๆหน้างานหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ อาทิ เครนยก หรือ กระเช้า เพื่อทำการติดตั้งหรือไม่ ตลอดจนลำกับการเข้างานของคิวช่างแต่ละประเภท ช่างปูน ช่างไม้ ช่างฝ้า ช่างอลูมิเนียม ช่างสี ช่างผ้าม่าน ฯลฯ
Check List ที่ควรเช็ค
- งานบ้านสร้างใหม่ หรือ รีโนเวท
- รื้อถอนบานเดิมหรือไม่
- บานเก่ามีปัญหาอะไรบ้าง
- ติดตั้งได้จากในอาคาร หรือ ต้องติดตั้งนอกอาคาร
- อาคารสูงกี่ชั้น พื้นที่ที่ติดตั้งเป็นชั้นที่เท่าไร
- ลำดับการเข้างานอลูมิเนียมที่เหมาะสมสำหรับบ้านสร้างใหม่คือ เข้าหลังงานฝ้าและสี แต่ก่อนงานเฟอร์นิเจอร์
- แยกงานติดตั้งมุ้งไปอยู่ท้ายสุดก่อนงานผ้าม่าน เพื่อป้องกันฝุ่นเกาะมุ้ง
- วัสดุที่อลูมิเนียมจะไปยึดติดต้องมีความแข็งแรงเพียงพอ เช่น เป็นปูน หรือ เหล็ก
- หากผนังฉาบบางไปหรือปูนไม่ดี ระหว่างการยึดบาน อาจทำให้เกินปูนร้านได้
- ขอบปูนที่ติดตั้ง มีดิ่ง ฉาก ที่ได้มาตรฐานงานติดตั้งหรือไม่
นอกเหนือจากประเภทของประตู-หน้าต่าง คำถามยอดฮิตที่ผู้รับเหมาหรือช่างอลูมิเนียมมักจะถามก็คือขนาดช่องเปิด หรือขนาดบานว่ามีความกว้างและสูงเท่าไหร่ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เจ้าของบ้านควรเตรียมไว้เพื่อให้ผู้รับเหมาหรือช่างสามารถประเมินราคาเบื้องต้นได้
ตัวอย่างระยะความสูงกับความกว้างของช่องเปิด
สำหรับบ้านสร้างใหม่ สามารถวัดจากขนาดช่องเปิดในแบบ หลังจากที่จับเซี้ยมปูนเสร็จแล้ว โดยแจ้งหน่วยเป็นหลักเซนติเมตรหรือมิลลิเมตร แต่หากต้องการรีโนเวทประตูหน้าต่าง ให้วัดขนาดตั้งแต่วงกบ (วงกบ = ส่วนที่ติดตั้งกับผนังบ้าน) ทั้งนี้ บานประตู-หน้าต่างที่ผลิตจะมีขนาดเล็กกว่าช่องเปิดของบ้าน เพราะช่างต้องลดระยะจากขอบปูนเล็กน้อย (ด้านละ 5-10 มิลลิเมตร แล้วแต่เทคนิคการติดตั้ง) เพื่อให้สามารถปรับหาแนวระนาบและแนวดิ่งให้กรอบอลูมิเนียม และยังเป็นระยะมาตรฐานช่องว่างในการซีลวัสดุยาแนวเพื่อให้เกิดการยึดเกาะป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ดีมากขึ้นและค่อยเก็บความเรียบร้อยด้วยซิลิโคนและกาว PU หรือ กาวอคริลิค
นอกจากขนาดของบานแล้ว เจ้าของบ้านควรแจ้งช่างเรื่อง “ความหนาของผนังบ้าน” ในจุดที่จะติดตั้งประตู-หน้าต่างด้วย เพื่อที่ช่างจะได้จัดหาระระบบประตู-หน้าต่างที่มีความหนาเฟรมเข้ากับผนังบ้านนั่นเอง
ตัวอย่างการวางหน้าต่างบนขอบปูน
ทั้งนี้การวางอลูมิเนียมบนขอบปูน ก็ขึ้นอยู่กับความสวยงามหรือปัจจัยอื่นๆด้วย อาทิ ความกว้างของเฟรมอลูมิเนียมไทยมาตรฐานคือ 4 นิ้ว หรือ 10.16 เซนติเมตร หากวางบนผนังที่มีความกว้าง 9 เซนติเมตร จะต้องเลือกว่าจะวางเฟรมชิดในหรือนอก หรือ ระบบพัฒนาที่เฟรมมีความกว้าง 9 เซนติเมตร ติดตั้งอยู่บนผนังที่มีความกว้าง 4 นิ้ว หรือ 10.16 เซนติเมตร อาจจะต้องเลือกว่า จะวางอลูมิเนียม ชิดในหรือนอก หรือจะมีการตกแต่งผนัง หรือคิ้วบัว ด้วยวัสดุอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อความสวยงามหรือไม่
หากสนใจติดตั้งบานประตู หน้าต่างอลูมิเนียมไทยเม็ททอล ในส่วนของราคาเป็นอย่างไร?
หากต้องการติดตั้งประตู-หน้าต่าง สิ่งที่ควรคำนึงก็คือประเภทของบาน ขนาดบาน ความหนาของอลูมิเนียมที่เลือกใช้ ประเภทกระจก ความหนากระจกและระบบของประตูหน้าต่างที่ท่านเลือกใช้ตามข้อมูลข้างต้น เพราะประตูหน้าต่างเป็นองค์ประกอบหนึ่งในบ้านที่อยู่กับเราไปหลายสิบปี การเลือกใช้ประตูหน้าต่างที่ดีมีคุณภาพจึงเหมือนกับการซื้อประกันให้บ้าน ลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอยภัยในการใช้งานในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ไทยเม็ททอล ได้เก็บข้อมูลราคาเฉลี่ยที่ผู้ติดตั้งเสนองาน ดังรายการต่อไปนี้
ทั้งนี้ ผู้ติดตั้งอลูมิเนียม จะไม่ได้คิดต้นทุนสินค้าเป็นตารางเมตร เพราะบานที่มีขนาดเล็กจะมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าบานขนาดใหญ่ การคำนวณเป็นตารางเมตร จึงเป็นการอธิบายโดยสรุปคร่าวๆ เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
บานเลื่อน : ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 3,500-5,000 บาท สำหรับระบบไทยมาตรฐาน และ 5,500-6,800 บาท สำหรับระบบพัฒนา X20: ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 5,500-6,800 บาท* (อลูมิเนียมหนา 1.2 มม. สีพ่นมาตรฐาน กระจกโฟลตความหนา 6 มม.)
บานเฟี้ยม : ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 10,000-12,500 บาท (อลูมิเนียมหนา 1.5 มม. สีพ่นมาตรฐาน กระจกโฟลตความหนา 6 มม.)
บานเปิด/บานสวิง :ราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 6,000-7,500 บาท (อลูมิเนียมหนา 1.5 มม. สีพ่นมาตรฐาน กระจกโฟลตความหนา 6 มม.)
บานกระทุ้ง : ราคาประมาณบานละ 4,500-7,000 บาท สำหรับระบบไทยมาตรฐาน รุ่นยูเนี่ยน และ บานละ 6,800-17,000 บาท สำหรับระบบพัฒนา รุ่น A40 (อลูมิเนียมหนา 1.5 มม. สีพ่นมาตรฐาน กระจกโฟลตความหนา 6 มม.)
หมายเหตุ: ราคาต่อตารางเมตร แปรผันตามขนาดสินค้า สินค้าขนาดเล็ก จะมีราคาต่อตารางเมตรสูงขึ้น
และทั้งหมดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นั้น เป็นข้อควรรู้ก่อนที่ท่านเจ้าของบ้านจะตัดสินใจเลือกติดตั้งประตู หน้าต่างอลูมิเนียม ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัย ในการการติดตั้งประตูหน้าต่างที่ดีและได้มาตรฐาน โดยอลูมิเนียมของไทยเม็ททอล ได้รับใบรับรองคุณภาพ รวมถึงมาตรฐานและระบบปฏิบัติการดังนี้
- THAI INDUSTRY STANDARD TIS 284-2017 หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.284 – 2560)
- ISO 9001:2015 ระบบบริหารการจัดการด้านคุณภาพ
- ISO 14001:2015 ระบบบริหารการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
- ISO 50001:2011 ระบบบริหารการจัดการด้านพลังงาน
- อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 ระบบสีเขียว (GREEN SYSTEM) จากกระทรวงอุตสาหกรรม
- THAILAND TRUST MARK (T MARK ) ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
- หนังสือรับรอง MADE IN THAILAND (MIT) จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ไทยเม็ททอล อลูมิเนียม” ผู้ผลิตอลูมิเนียมเส้นสำหรับประตู-หน้าต่างอลูมิเนียมครบวงจร เทียบเท่างานอุตสาหกรรมในระดับมาตรฐานสากล เรามุ่งมั่นพัฒนากระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย และส่งมอบอลูมิเนียมเส้นคุณภาพสูงที่ปราศจากสารก่อมะเร็ง เพื่อนำไปประกอบติดตั้งเป็นประตู-หน้าต่าง ปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ทั้งพนักงาน ช่างอลูมิเนียม และเจ้าของบ้าน
เรามีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หากท่านต้องการติดตั้งประตู-หน้าต่าง สามารถเจาะจงเลือกใช้อลูมิเนียมเส้นคุณภาพสูงจากไทยเม็ททอลผ่านผู้รับเหมา ช่างอลูมิเนียม หรือตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้านท่านได้ทั่วไทย
เพราะประตูหน้าต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในบ้านที่อยู่กับเราไปอีกหลายสิบปี การเลือกใช้ประตูหน้าต่างที่ดีมีคุณภาพจึงเหมือนกับการซื้อประกันให้บ้าน โดย Check List ดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อควรรู้ที่เจ้าของบ้านควรพิจารณา ก่อนจะตัดสินใจเลือกติดตั้งประตูหน้าต่างอลูมิเนียม เพื่อความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีต่อผู้อยู่อาศัยในระยะยาว
เช็คลิสต์ข้อควรรู้ก่อนติดตั้งประตู หน้าต่าง อลูมิเนียม
- ยี่ห้อและชนิดของเส้นอลูมิเนียมที่ใช้ประกอบเป็นบานประตูหน้าต่าง
- ตำแหน่งที่ติดตั้งบริเวณอาคาร
- ประเภทและลักษณะของประตูหน้าต่างแบบต่างๆ
- ความต้องการหรือข้อจำกัดของการใช้งาน
- ประสิทธิภาพประตูหน้าต่างจากการทดสอบตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
- สี ความหนา และ เกรด ของเนื้ออลูมิเนียม
- ชนิดกระจกที่เหมาะสมกับการใช้งาน
- อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบ
- ความชำนาญการของผู้ติดตั้งอลูมิเนียม