‘ชวนย้อนคิดถึงเรื่องตำแหน่งแสงเข้าของดวงอาทิตย์ ก่อนวางตำแหน่งช่องแสง-ช่องเปิด’
ปัจจุบันอาคารในไทยนิยมใช้เฟรมอลูมิเนียมทำช่องแสง-ช่องเปิดกัน โดยนักออกแบบอย่างเรามักจะอยากได้ช่องแสงกระจกกว้างๆ เพื่อจะได้รับวิวทัศนียภาพแบบเต็มที่ ขณะเดียวกันช่องแสงเหล่านี้ก็รับแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์เข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการที่เราจะป้องกันได้ก็คือการวางช่องแสง-ช่องเปิดในทิศที่แดดส่องน้อย อย่างทิศเหนือเป็นต้น พร้อมการออกแบบระแนงหรือแผงกันแดดเพิ่มเติม
ชาวนักออกแบบที่มีอายุกันหน่อย อาจจะเคยเรียนการออกแบบ แผงกันแดด Sun Shade มาคำนวณมุมแสงตามช่วงเวลา หมุนไม้วัดมุมองศาและออกแบบระยะยื่นแผงกันแดดกันสนุกสนาน ส่วนนักออกแบบรุ่นใหม่หน่อย อาจจะเรียนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ มาคำนวณ
ซึ่งช่องแสงในแต่ละด้านของอาคารก็จะมีการออกแบบต่างกันไป โดยเราจะนิยมคิดมุมที่ดวงอาทิตย์ทำมุมกับแนวดิ่งของผนังและช่องแสง
ปกติเราจะคิดออกแบบแผงกันแดดของช่องแสง-ช่องเปิดทางทิศเหนือ เลือกวันจากเดือนมิถุนาซึ่งเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งมาทางเหนือมากสุด หากเรากันแสงช่วงนี้ได้ ช่องแสงฝั่งทิศเหนือเราก็จะกันได้ตลอดปี ซึ่งมุมดวงอาทิตย์จะทำมุมจากแนวดิ่ง 66 องศา ในช่วงเช้าและบ่าย
และช่วงทิศใต้เราจะคิดจากวันช่วงเดือนธันวาคม อย่างเช่น 21 ธันวา ซึ่งเป็นฤดูหนาว คือช่วงดวงอาทิตย์จะอ้อมมาทางใต้มากสุด จะทำมุมจากแนวดิ่ง 72 องศา ในช่วงเช้าและบ่าย
ในส่วนทิศตะวันตกและตะวันออกจะทำมุมที่หลากหลาย บางคนจึงแนะนำว่าด้านนี้ให้ทำเป็นฟาซาดระแนงแนวดิ่ง ทำมุม 30 องศา กับระนาบผนัง
อย่างไรก็ดี แผงกันแดดต่างๆ ก็ไม่สามารถกันแดดได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็น ตอนที่ผู้เขียนเรียน เราจะคำนวณออกแบบแผงกันแดดจากดวงอาทิตย์ช่วง 8.00-16.00 น. ผู้เขียนก็เคยถามอาจารย์ว่าแล้วถ้าหลังสี่โมงละครับ ปรากฎว่าแดดตอนเย็นมันทำแสงแทบจะเป็นแนวนอน ที่อย่างไรก็กันด้วยแผงกันแดดไม่ได้ ซึ่งถ้ากันได้มันก็บล็อกวิวไปด้วยเลย
แต่มันก็มีวิธีอื่นนอกจากการเลือกวางตำแหน่งช่องแสง-ช่องเปิด เราสามารถใช้วิธีการออกแบบ Sun Shade ต่างๆ ร่วมกับช่องแสงกระจกเฟรมอลูมิเนียมทั้งผืนผนัง ให้กันแสงและความร้อน พร้อมการเปิดรับวิวทัศนียภาพอย่างเต็มที่ได้ครับ
ซึ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดีขึ้น เราสามารถใช้หลังคา-กันสาดอลูมิเนียมซึ่งแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา ให้ยื่นออกไปได้หลายเมตร รวมถึงการทำชายคา มาเป็นระเบียงหรือเฉลียงโดยรอบ นำการออกแบบจากอาคารสไตล์ Tropical Modern Architecture มาใช้งานได้เช่นกัน
อ้างอิง : https://www.eppo.go.th/…/Publication/Pubication_1/13.pdf